ปัจจัยกำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลก
สำหรับคอลัมน์ Knowledge Management ในฉบับที่แล้วมาได้มีการนำเสนอถึงขั้นตอนและกระบวนการในการบริหารจัดการความ รู้ของหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (ธกท.) ไปแล้ว ในฉบับนี้จึงขอเสนอองค์ความรู้ที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาด ต่างประเทศได้จัดทำและนำเสนอเพื่อนพนักงาน ซึ่งเป็นเรื่องของปัจจัยการกำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลก
น้ำมันดิบเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ได้จากการสำรวจและผลิตทั้งจากแหล่งบนบกและในทะเล ขณะที่น้ำมันสำเร็จรูปชนิดต่างๆ ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และน้ำมันเตา ได้จากการนำน้ำมันดิบเข้ากระบวนการกลั่น น้ำมันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะมนุษย์ใช้น้ำมันเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย เช่น การเดินทาง การขนส่งสินค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า และการทำความร้อน เป็นต้น ด้วยความสำคัญข้างต้นในบางโอกาสน้ำมันจึงใช้ในการต่อรองทางเศรษฐกิจและการ เมือง น้ำมันถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) กล่าวคือเป็นสินค้าที่ตัวสินค้ามีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ผลิตก็ตาม และเป็นสินค้าที่ซื้อขายทั่วโลก
ปัจจัยการกำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลก
1. ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Factors)
อุปสงค์ (Demand) หรือความต้องการใช้น้ำมัน ปัจจัยหลักที่ผลักดันอุปสงค์ของน้ำมันคือ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพราะมีผลต่อการใช้เชื้อเพลิงในชีวิตประจำวันและการใช้ในกิจกรรมต่างทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในปี 2553 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ International Monetary Fund (IMF) คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจะเติบโตที่ระดับ 4.6% โดยอัตราการเติบโตของจีนอยู่ที่ 10.5% และอินเดียที่ 9.4% ส่งผลให้องค์กรพลังงานระหง่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEM) ปรับอุปสงค์น้ำมันดิบโลกปี 2553 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ระดับ 86.5 ล้านบาร์เรล/วัน
อุปทาน (Supply) หรือปริมาณการผลิตน้ำมันได้แก่ปริมาณการผลิตน้ำมันของประเทศผู้ผลิต แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ
1. ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบเพื่อการส่งออก หรือ Organization of the Petroleum Exporting Countries (OPEC)
2. ประเทศ Non-OPEC เช่น รัสเซีย เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เป็นต้น
กลุ่มโอเปกซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่และมีปริมาณสำรองน้ำมัน มากที่สุดในโลก มีบทบาทในการกำหนดทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกโดยกำหนดการโควตาการผลิต (ปัจจุบันอยู่ที่ 24.85 ล้านบาร์เรล/วัน) นอกจากนี้ปริมาณสำรองน้ำมันดิบของประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป และจีน เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน
2. ปัจจัยทางความรู้สึก
ตลาดน้ำมันเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวต่อกระแสข่าวรายวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจ การเงิน และอุตสาหกรรม รวมทั้งการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ขนส่ง สำรอง และการบริโภคน้ำมัน ทั้งเหตุทางตรงและทางอ้อมอาจทำให้ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว แม้สถานการณ์นั้นๆ อาจยังไม่เกิดขึ้น เช่น การขู่ว่าจะมีการก่อร้ายในบริเวณที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมัน หรือเส้นทางการขนส่งน้ำมันดิบเช่น ช่องแคบฮอร์มุชซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันจากประเทศผู้ผลิตในอ่าวเปอร์ เซียสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ การลงมติขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น มติคว่ำบาตรอิหร่านของสหประชาชาติครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2553 มีผลทางจิตวิทยาต่อนักลงทุน แม้ว่าปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันไม่มีการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ สภาพภูมิอากาศยังเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และอุปทานน้ำมัน เช่น ช่วงฤดูหนาวในสหรัฐฯ และยุโรป (เดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์) จะมีความต้อการน้ำมันเพื่อทำความร้อน (Heating Oil) เพิ่มขึ้นขณะที่ฤดูมรสุมในมหาสมุทรแอตแลนติก (เดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน) อาจทำให้การผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบนอกชายฝั่งที่สำคัญของสหรัฐฯ หยุดชะงัก เนื่องจากแท่นขุดเจาะน้ำมันอาจถูกพายุเฮอริเคนพัดผ่าน
3. การเคลื่อนไหวของเงินทุน (Fund Flow Factors)
ปัจจุบันนักลงทุนมีอิสระในการโยกย้ายการลงทุนระหว่างตลาดเงินตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดข้างต้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดใดตลาดหนึ่ง เช่น อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินยูโรกับดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve หรือ Fed) วิกฤติหนี้ Subprime ในสหรัฐฯ และปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป เป็นต้น
การคงอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมในระดับต่ำและมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐทั่วโลกส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้ามาในตลาดน้ำมันอย่างต่อเนื่องเพราะน้ำมันเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่ใช้ลดความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อ (Hedge Against Inflation) โดยราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวตามอัตราการถดถอยหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ราคาน้ำมันได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายประการที่ล้วนปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบโลก ดังนั้น การพิจารณาปัจจัยดังกล่าวข้างต้นสามารถช่วยในการคาดการณ์ทิศทางและแนวโน้มของราคา และหากมีข้อมูลข่าวสารถูกต้องครบถ้วน จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการประเมินราคาน้ำมันและช่วยให้วางแผนการใช้พลังงานได้เหมาะสมกับธุรกิจมากขึ้น
Download
บริษัท สยาม โกลบอล ลูบริแคนท์ จำกัด Siam Global Lubricant Co.,Ltd.
13 ถนนเจริญกรุง 3 แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร : 098-9192463 , 0-2622-1700-3 , 089-6612991 โทรสาร (Fax.) : 0-2622-1704
E-mail : sales@sgl1.com , Line ID : SGL1 , เวลาทำการ : วันจันทร์-เสาร์ 8.30-17.30น. หยุดอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์